Wednesday, October 29, 2014

#20 เพื่อนสมัยประถม


วันนี้ได้มีโอกาสโทรศัพท์คุยกับเพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัด
เพื่อนคนนี้ รักมากสมัยเด็ก และเราก็ไม่ได้คุยกันมาจนกระทั่งโต ทำงาน
คือ สมัยก่อน ไม่มีโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และแม้แต่มือถือก็ไม่มี
อุปกรณ์ที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ โทรศัพท์บ้าน
และถ้าอยากแชร์รูป ต้องส่งจดหมายเท่านั้น
ไม่ใช่อีเมล์ครับ
ผมหมายถึงจดหมายเขียนมือ ที่ต้องติดสแตมป์ เดินไปส่งที่ตู้จดหมาย แล้วรอประมาณหนึ่งสัปดาห์
ด้านมืดของความสะดวกสบายคือ การก่อความขี้เกียจให้เกิดขึ้นในตัวคน
และนั่นเป็นสิ่งเลวร้ายที่ทำให้คนเกรด A กลายเป็น B
หรือ C
หรือ F ไปเลยก็มี

บางที ผมก็นั่งนึกตลกกับกลไกของวันเวลา
เราไม่ได้เจอกับคนหนึ่งเป็นเวลานานมาก
นานมากจนเปลี่ยนให้คนคนหนึ่ง กลายเป็นอีกคนที่เราไม่รู้จัก
แต่คนใหม่ที่เราไม่รู้จักนั้น ก็มีคนคนเดิมคนนั้นซุกซ่อนไว้ข้างในความเป็นเขาอย่างเงียบเชียบ
รอตัวตนที่เราเองก็ซุกซ่อนไว้ในตัวเรา เข้าไปสัมผัส ไปคุย ไปคุ้ยขึ้นมาทักทายกัน
ผมใช้เวลาคุยกับเขาผ่านโทรศัพท์เป็นเวลากว่าสามชั่วโมง

จำได้ว่าแบตมือถือ จากเต็มเต็ม เหลือแค่ 30%
(แต่ลดน้อยกว่าตอนที่เล่นอินเตอร์เน็ท 3G ซึ่งลดอย่างบ้าคลั่ง)
ผมพูดกับเพื่อน ถึงเรื่องความแตกต่างของลักษณะคน
ว่าในสังคม มีทั้งประเภทที่เป็นเลือดนักต่อสู้ ซึ่งเพื่อนผมตั้ังชื่อเล่นให้กับบุคคลลักษณะนี้ว่า

สายบู๊
สายบู๊ จะมีลักษณะนิสัย คิดจะทำอะไรแล้ว จะทำเลย ไม่รอโอกาส
ต้องการทำ มีพลังงานล้นเหลือ วางแผนในระดับหนึ่ง แต่ไม่มาก ไม่เสียเวลาเหมือน..

สายเคลิ้ม
(ชื่อนี่ออกแนว วาบหวามอิโรติคยังไงชอบกล)
สายเคลิ้ม จะมีลักษณะ คิดหาสมดุลให้กับทุกสิ่งบนโลก
คิดไปทุกเรื่อง และมองว่าทุกเรื่องมีสาระ
เข้าใจอะไรได้ง่ายง่าย แต่สิ่งที่น่าจะเข้าใจได้ง่าย กลับมองให้เข้าใจยาก
และมีลักษณะ เคลิ้มเคลิ้ม เยิ้ม เยิ้ม เหมือนง่วงซึมตลอดเวลา และชอบโทษตัวเอง

ถ้าให้ผมจำกัดความตัวเอง ผมก็บอกยาก ว่าตัวเองมีบุคลิกตรงกับประเภทไหน
นอกจากสองอันข้างบนที่พูดถึงแล้ว ก็ยังมี สายจ๊ะจ๋า สายไล่ควาย สายวิตกจริต
(จ๊ะจ๋ากับวิตกจริตนี่ เข้าใจได้ไม่ยาก แต่สายวิ่งควายนี่ ผมเองจำไม่ได้)
(หรือเป็นสายที่ชอบปฏิบัติงานตามไซต์ต่างจังหวะเวลามีประเพณีวิ่งควายเกิดขึ้น ?)
ผมสามารถแปลงบุคลิกตัวเองให้เป็นได้หลากหลาย
แต่ถ้าเป็นตัวเองโดยอัตโนมัติ ผมว่าผมคงอยู่จำพวก 'เคลิ้ม'

ผมก็อยู่สายบู้ได้ และชอบด้วย เพราะชีวิตสนุกและลุย แต่ใช้พลังงานเยอะ
สายจ๊ะจ๋าก็สนุกสนานดี แต่ผมติดขี้รำคาญ และบางทีเวลาอยู่ในสังคมนานจะรู้สึกพลังงานถดถอย
(สมควรถูกไล่ให้ไปอยู่ในป่าคนเดียวมั้ยเนี่ย ฮึ ?)
แล้วเราก็พุดกันถึงประเด็นเรื่อง คนกับการทำงาน

พูดกันเรื่อง การทำงานสไตล์ เอกชนยุโรป กับเอกชนญี่ปุ่น และงานราชการไทย
โดยเนื้อหาแล้วผมขอไม่แจกแจง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่อง sensitive เกินไปที่จะพูด
แล้วอีกอย่าง ผมถือคติว่า ในดำมีขาว ในขาวมีดำ ที่ที่สว่างมากก็มีเงามืด
แต่สิ่งที่อยากแชร์คือ
ผมกับเพื่อน เคยมีความรู้สึกอยากเท่ อยากเป็นคนโดดเด่น เป็นที่รู้จักในวงสังคมด้วยกัน
ซึ่งคำว่าโดดเด่นในที่นี้ หมายถึง 'การโดดเด่นแบบปัจเจก หรือ โดดเด่นคนเดียว'
พูดให้ง่ายคืออยากโชว์เดี่ยวนั่นแหล่ะครับ
และผมก็ชอบประเด็นที่เพื่อนผมพูดต่อจากนั้นว่า

คนเรา มันไม่ใช่ว่าเก่งคนเดียวแล้วจะดีเสมอไป
ถ้าเราตายไป แล้วใครจะมาแทนเรา
ดูตัวอย่างบริษัท apple ได้
เราต้องเก่งกันเป็นทีม และไปด้วยกัน

ผมชอบจุดนี้ที่เพื่อนพยายามจะแจงให้ผมเข้าใจ
เพราะนี่เป็นจุดในใจผมเหมือนกัน
บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินเรื่องที่ว่า ทำไมประเทศเรา นักฟุตบอลถึงไม่ค่อยมีทีมเวิร์ค
ประเด็นมันก็มาจากส่วนนี้เหมือนกันนะครับ
ผมไม่อยากโยงเป็น reference เยอะ เพราะจะซับซ้อนและเสียเวลาอ่านมากเกินไป
ผมบอกได้ในรูปแบบสั้นสั้นว่า ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นมา ล้วนมีที่มาที่ไป
เพียงแต่ที่มาที่ไปนั้น จะมีเหตุผลแบบสมบูรณ์ในตัวเองหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

(เช่น เรื่องที่คนสองคนรักกัน ข้างหลังฉากมันก็มีเหตุผลว่า ฉัน รัก เธอ เพราะหนึ่งสองสามสี่
แต่ไอ้หนึ่งสองสามสี่ ถ้าจำแนกดีดี บางข้อมันก็ไม่ใช่เหตุผลแบบสมบูรณ์ในตัวเองอยู่ดี)
เช่นเดียวกันกับเรื่อง คนของเราไม่มีทีมเวิร์ค อย่าโทษนักฟุตบอลอย่างเดียวเลยครับ
โทษสภาพสังคมเมืองของเราด้วย ว่าเป็นสังคมแก่งแย่งชิงเด่น

ถามว่าใครผิด
ผิดกันหมดและครับ ใครอยู่ในสังคมนั้นก็ผิด

เพราะเราชี้ไปที่สังคม เหมือนชี้ไปที่พรรคการเมืองหนึ่งหนึ่ง
ถ้าไม่ใช่คำว่า 'สังคมเมือง' ความเอาตัวรอด อยากเด่นคนเดียว จะลดลงอย่างฮวบฮาบ
เรื่องนี้ ลองพิสูจน์ได้นะครับ ถ้าได้ผลตรงกันข้าม มาบอกผมด้วย
มาต่อกันที่เรื่องเดิม เรื่องการเป็นทีม และก้าวไปด้วยกัน
ผมเคยได้ยินคำพูดของคนหลายคนว่า
'เมืองไทยเรา คนเก่งเยอะนะ'
แต่ผมเดาว่า ที่มันยังไม่พัฒนาถึงจุดที่มันควรจะเป็น ประกอบด้วยสาเหตุใหญ่ใหญ่บางข้อ

เช่น
อย่างแรกที่อยู่ในใจผมคือ สภาพสังคมอีกแล้ว
ทราบหรือไม่ ว่า บางทีการที่คนเก่ง แชร์ หรือแบ่งปันอะไรบางอย่างด้วยเจตนาดี
อาจได้ผลตรงกันข้าม เนื่องมาจากกริยาดราม่าของคนกลุ่มหนึ่ง
ใคร ? ใครดราม่า ?
สังเกตุง่ายครับ คนที่เป็นคนดราม่า จะแสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์เข้มข้น
และมักเริ่มเรื่องอะไรก็ได้อย่างมีเหตุผล
แต่พอพูดไปเรื่อยจนถึงจุดที่รู้ว่าตัวเองผิด แต่ไม่อยากแพ้ จะหยิบเหตุผลเชิงแคบขึ้นมาเถียง
ซึ่งเหตุผลเชิงแคบ จะปนไปด้วยอารมณ์และมุมมองส่วนตัว ซึ่งเป็นเหตุทำให้เหตุผลถูกบีบเป็นเชิงแคบ
และเหตุผลประเภทนี้จะมีประโยชน์น้อย เนื่องจากมีอารมณ์ส่วนตัวเข้ามาปนเยอะ
อารมณ์มีส่วนในการทำให้การตัดสินใจแบบตรรกะผิดพลาดสูงขึ้น
เช่น การเลือกบ้าน การเลือกสถานที่เรียน
เลือกบ้านเพราะ ที่นี่ทำให้รู้สึกสดชื่น เลือกที่เรียนเพราะรู้สึกตึกสวย
ไม่ได้ศึกษาด้วยว่า ตรงจุดตำแหน่งที่เลือกบ้าน น้ำท่วมง่าย โรงเรียนที่เลือก ตึกสวย สอนไม่ได้เรื่อง
พอยกตัวอย่างอย่างนี้ ผูกเข้ากับเรื่องความเป็นดราม่าของคนจะยิ่งเห็นชัดขึ้นว่า
การใช้ดราม่า มันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมในความก้าวหน้าของชีวิตมากเท่าไรนัก
เช่นเดียวกับการดราม่าใส่คนที่อยากกระจายความรู้ให้คนอื่น
นอกจากจะไม่เป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้คนทำดี ยังทำให้เขาไม่อยากเปลืองตัวด้วย

ดราม่าเกิดขึ้นมาได้ไง ?
ภาพตัวอย่างการเมืองในประเทศเราเป็นคำตอบที่่เห็นชัดที่สุดครับ
การถูไถสีข้างแทบแตก โดยใช้เหตุผลปนกับอารมณ์ส่วนตัวนี่ เรียกว่าเป็นดราม่าได้ดีทีเดียว
พูดไปพูดมา ร้องไห้ออกไมค์
ดราม่าเข้มข้น

(อย่าเพิ่งง้างนิ้วจะคอมเม้นต์ด่าผมนะครับ ผมไม่ได้เจาะจงว่าใคร
เพราะมันเกิดขึ้นหลายคน หลายยุค หลายสมัยมาแล้วสำหรับสิ่งนี้)

มาต่อที่เรื่องดราม่ากระทบคนที่อยากแชร์ความรู้
แล้วมันจะเกี่ยวหอยทอดอะไรกับเรื่อง ทีมเวิร์ค ไม่ทีมเวิร์ค
พอคนไม่อยากแชร์ความรู้
ก็จะเกิดผลที่ตามมาคือ ความรู้กระจุกตัว
ก็จะมีสองสิ่งที่ตามมาคือ เกิดคนมีความสามารถกระจุกเป็นหมู่เป็นก้อน ไม่แบ่งกันสามารถ
(ซึ่งโทษพวกเขา ก็ไม่ถูกซะทีเดียว จากเรื่องที่ยกมากล่าวทั้งหมด)
ซึ่งตามปกติ คนมีความสามารถ ย่อมประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า
ปัญหาคือ เมื่อประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า คนที่ไม่ยินดีด้วยก็เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นเดียวกัน
มันคงมีเหตุผลแหล่ะครับ ว่าทำไมคนในอดีต ถึงแจกแจงไว้เป็นวลีว่า

'ดีได้แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย'

ความเข้าใจของคนสมัยก่อนต่อสภาพสังคมของเขาสูงกว่าในปัจจุบันครับ
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่สื่อว่า เขาฉลาดกว่าหรืออะไร
เพราะในสังคมปัจจุบันของเรา ประกอบไปด้วยสภาพจิตใจ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น
คนดี แตกเป็นประเภท A และ B คนไม่ดีก็เช่นกัน และรวมถึงคนไม่ดีไม่เลวก็ไม่เว้น
ในขณะที่ในอดีต ก็มีแต่ ดี กับ เลว และธรรมดา

ทีนี้ พอคนไม่ต้องการให้คนอื่นประสบความสำเร็จ เพราะตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ
เนื่องจากมีความสามารถไม่เท่า (ซึ่งอาจมาจากการไม่มีคนแบ่งความรู้ หรือการขี้เกียจตามธรรมชาติ)
ก็จะพยายามฉุดรั้ง
พอคนมีความสามารถโดนฉุดรั้งบ่อยครั้ง เขาจะเกิดอาการขยาด และไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับคนไม่มีความสามารถ
และนี่ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคนเก่ง ชอบโชว์เดี่ยว ไม่ทำงานเป็นทีม
เพราะสภาพสังคมเมืองแบบมหภาคบีบมาอย่างนี้ครับ
ลองไปดูในที่ที่คนมี (เหรอ) การศึกษาดูถูกว่าเขาด้อยการศึกษาสิครับ
เขาสามัคคีกัน และรวมพลังทำงานยากสำเร็จกันได้เยอะ
เราจะได้รับรู้รับทราบหรือไม่ มันก็เป็นอีกเรื่อง
ตราบใดที่พวกดราม่า (ในเว็บต่างประเทศ น่าจะตรงกับบุคลิกพวก Haters)
ไม่หยุดที่จะดราม่า และยังคงบรรเลงดราม่า แล้วพูดด้วยว่าดราม่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ประเทศมันก็จะดราม่าไปอย่างนี้แหล่ะครับ

วิธีเช็คคนที่ดราม่าได้ง่ายที่สุด
คือ ด่าพวกดราม่าออกอากาศ
ใครเถียงสวนขึ้นมาคนแรก เราปักหมุดได้เลยว่าคนนี้น่าจะดราม่า
แล้วถ้าเถียงไปแล้ว เขาใช้อารมณ์ร่วมกับเหตุผลข้างคูคลองแล้วล่ะก็
ฟันธงขาดสะบั้น เราพบนักแสดงอีกท่านแล้ว !
กลับมาที่เรื่องหลักอีกทีนะครับ
ผมกำลังแชร์เรื่อง ความคิดของเพื่อน ที่บอกว่าเราควรไปกันเป็นทีม
ทำให้ผมต้องร่ายยาวมาถึงจุดนี้
ผมเชื่อว่าสังคมกำลังเปลี่ยนครับ

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ มีคนลุกขึ้นมาด่าประเทศตัวเองเยอะมาก
เราจะได้เห็นบ่อยมากว่า ไทยอย่างนู้น ไทยอย่างนี้
ที่มาของพฤติกรรมด่าประเทศตัวเองที่เห็นได้ง่ายสุดคือ เดี่ยวของพี่โน๊ตอุดมฯ
การด่าประเทศตัวเองของพี่เขา เป็นในลักษณะการประชดประชันออกสื่อ
โดยมีเจตนาหลักอยากให้คนได้ฉุกคิดกัน

ซึ่งได้ผล เพราะหลังจากเดี่ยวคราวนั้น กระแสด่าประเทศอย่าง 'ไทยแลนด์ออนลี่' เริ่มสะพัด
แม้กระทั่งคนธรรมดาที่เข้าข่าย 'ไทยแลนด์ออนลี่' ในบางข้อ ก็พูดคำนี้ด้วยเช่นกัน
การด่าประเทศตัวเอง ทำให้เราได้เห็นอย่างหนึ่งว่า เราไม่ได้หลงตัวเองในระดับความเป็นภาครวม
(แต่การหลงตัวเองโดยปัจเจกหรือส่วนบุคคล ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลนะครับ : D )
ผมเดาว่า เราจะชิงชังความเป็นประเทศตัวเองอยู่พักหนึ่ง
จนวันหนึ่งเราจะคิดต่อว่า 'เออ.. ไม่ชอบ .. แล้วยังไงต่อวะ เบื่อจะด่าแล้วเหมือนกัน'
เมื่อนั้น การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศจะค่อยค่อยก่อตัวขึ้น
จะเห็นคนหันมาทำเพื่อสังคมกันมากขึ้นไปอีก
จะหยุดนิสัยที่คนด่ากันว่า 'ไทยแลนด์ออนลี่' กันได้มากขึ้น
และหันมาทำให้ทุกคนหยุดความเป็น 'ไทยแลนด์ออนลี่' กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มันอาจจะยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในปีสองปี แต่ผมเชื่อว่า วันหนึ่ง เมื่อประเทศถึงก้นเหว
มันจะลอยขึ้นเอง จากประชาชน

คนธรรมดาอย่างผมได้แต่ภาวนาว่า มันจะเกิดปฏิหารย์ไม่ต้องให้มันไปสัมผัสก้นเหวก่อนจะลอยตัวขึ้น
แต่ถ้าไม่เกิด ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ในฐานะ 'ผู้อาศัย' ของประเทศ
แต่ถ้าอยู่ในสภาวะผู้นำ นั่นจะเป็นอีกเรื่องเรื่องหนึ่งไป
จากต้นเรื่องที่ผมร่ายมาทั้งหมด จนถึงบรรทัดนี้
ที่ผมจะสื่อ ก็คือประเด็นที่่เพื่อนผมพูดถึงเรื่อง การก้าวไปด้วยกัน เก่งไปด้วยกัน

จะเกิดขึ้นได้คือ อย่างแรกสุด
คนต้องพยายามหยุดเก่ง เก๋าแต่บนคีย์บอร์ด
เรื่องเข้าเว็บบอร์ด ไปพิมพ์คอมเม้นต์เชิงคนฉลาดว่า 'เฮ้อ ประเทศไทย' เพียงอย่างเดียว
ควรเติมเหตุผลต่อท้าย หรือแนวทางแก้ไขที่เราคิด 'เฮ้อ ประเทศไทย.. ทำไม ไม่ลองทดสอบ
วิธี A เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ จากนั้นก็เช็คประชามติ คือถ้าคิดว่าจะช้าไปก็เร่งทำ แล้วรายงานผล
ให้ประชาชนรู้เป็นระยะ' ก็จะมีที่มีที่ไป และมีน้ำหนักของคำพูดคนคอมเม้นต์ดีกว่า
อาจเริ่มสงสัยแล้วใช่มั้ยครับว่า พูดไปแล้วจะได้อะไร

ได้สิครับ
อย่างแรกคือ เราได้ฝึกคิดเลย ได้ฝึกใช้เหตุผลให้คนอื่นร่วมคิดตาม
ตามมาด้วยหยุดอย่างที่สองคือ หยุดดราม่า
เมื่อเถียงด้วยเหตุผล แล้วพบว่าเหตุผลเรามันไม่สมบูรณ์ นั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของโลก
แน่นอนว่า คุณอาจจะรู้สึกเฟล หรือสูญเสียความมั่นใจไปบ้าง
แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือ คุณได้พบจุดบอดจากแนวคิดตัวเอง
เพื่อนำไปปรับฝึกการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลของตัวเรา เพื่อการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ในวันข้างหน้า



ที่ผมพูดมา มีแต่ตัวเราที่ได้นะครับ
การเป็นคนมีเหตุมีผล และใช้อารมณ์ส่วนตัวให้น้อยลง เป็นเรื่องที่เราทุกคน สมควรจะทำ
สมควรจะทำมาก หากอยากเห็นประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก้าวหน้า
ไม่ได้สิ่งที่เราจะได้กัน คือ เศษของผ้า ฉากละครโอเปร่า ดราม่า ทูเต้าซึ่นแอนด์ทาเวฟล์พลัสหอมชื่นใจ
แต่ผมดีใจนะ

เวลาอ่านบล็อกในเอ๊กซ์ทีน แล้วเห็นคนขยันแชร์แนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผล
เห็นคนแบ่งปันความรู้มากขึ้นใน youtube
เห็นคนทำรายการที่่ฉุดกระชากคน ให้ได้คิดกับความเป็นจริงของสังคม
การหลุดออกจากความไม่รู้ด้วยความเข้าใจผิดนั้น ไม่ยากครับ
แต่ปัญหาคือ ความยากที่เราจะรู้ว่า จะเช็คได้ยังไงว่าเราเข้าใจผิด
สังคมเมืองแบบเราเป็นประเภท จริงคือลวง ลวงคือจริง
ได้ตัวอย่างมาจากนักการเมืองที่เถียงกันในสภา

คนเห็นอย่างนั้น เขาก็มองว่าฉลาด
เลยมีแต่ฉลาดแกมโกงกันให้โจ๋งครึ่ม แถกันด้วยดราม่าแบบเต็มคราบ
ต้องเริ่มจากตัวเราเลยครับ ถ้าจะเปลี่ยนอะไรที่ใหญ่ใหญ่อย่างสภาพสังคมเมือง
เปลี่ยนตัวเราให้คนอื่นเห็น เมื่อคนรอบข้างมองว่าดี เขาจะเปลี่ยนตาม
ตราบใดที่เราดราม่า
อย่าหวังว่าดราม่าจะหมดไปจากประเทศ
และภาพการเก่งเป็นทีมอย่างที่เพื่อนผมพูด ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
หรือเกิดขึ้นก็อีกหลายปีแสงข้างหน้า เมื่อเทรนด์ดราม่าหายไปตามกาลเวลา

อีกอย่างที่อยากจะบอก
อย่าพิมพ์ อย่าแชร์ทุกอย่างที่เราคิด
เพราะทุกอย่างที่ออกมาบนอินเตอร์เน็ท ควรผ่านกระบวนการการคิด การไตร่ตรองก่อน
ไม่ใช่เพื่อใคร
เพื่อเป็นการแสดงระดับความคิดความอ่าน ในตัวผู้แสดงเอง
ขอบคุณเพื่อนที่วันนี้ได้ทำให้คุยกันในแง่มุมดีดี
เป็นสาเหตุที่ทำให้เขียนบล็อกหน้านี้ วันนี้ ขึ้นมา

: D

>> ฝากคอมเม้นต์แลกเบอร์โทร !

โปรดบอกความนัยกับผม