Tuesday, October 7, 2014

#8 ชื่อเพราะๆ ของความผิดพลาด




รับสมัคร: ประสบการณ์ 3 - 5 ปี






"ทำไม ต้องประสบการณ์ ไม่มีประสบการณ์ แต่ฝีมือดี ไม่เอาเหรอ"







คืองี้ครับ

ประสบการณ์ คำนี้ ฟังดูยิ่งใหญ่ ฟังดูเป็นผู้รู้


แต่มีชาวตะวันตก ท่านหนึ่ง เคยว่าไว้ ว่า 'ประสบการณ์ เป็นชื่อเรียกเท่ๆ ของความผิดพลาด'


คำว่า ผิด เป็นครูนั้น มีอยู่จริงครับ มีให้เห็นเกลื่อนไปด้วย ผิดมาก ผิดบ่อย ก็ยิ่งได้เรียนรู้
ผิดเพลินไปหน่อย ก็อาจไปเป็นภารโรงแทน



มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เพอร์เฟคท์ครับ อย่างไร เราก็ต้องผิดพลาดเข้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนที่พยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบ แล้วสมบูรณ์ได้จริงๆ ผมยังไม่เคยเจอสักคน

คนที่พยายามพัฒนา IQ ก็จะควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้
คนที่ EQ เยอะ บางทีก็ถูกคนที่ไว้ใจหลอกเอา ก็โดนมองว่า ไว้ใจง่ายอีก



หรือแม้แต่ทางสายกลางที่ประครองทั้งสองอย่างไป ก็ไม่เรียกว่าเพอร์เฟคท์ แต่นั่น นับเป็นตัวเลือกที่ฉลาดที่สุด โดยไม่ต้องไปเอื้อมหาคำว่า 'สมบูรณ์' -- ฉะนั้น ถ้าความจริงมันกระจ่างชัดอยู่แล้ว ว่าคำว่าสมบูรณ์แบบ แลดูจะเป็นเรื่องไกลเกินสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์


เราก็ต้องเรียนรู้กับคำว่า 'ผิดพลาด' ในมุมที่เป็นประโยชน์
คำว่า 'ประสบการณ์' จึงงอกขึ้นมาในพจนานุกรมครับ


หลายคนอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วยังติดใจกับคำพูดผมว่า

'รู้ได้ไงว่า คนสมบูรณ์แบบไม่มีจริง'


เอางี้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ

นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เป็นคนอารมณ์ดีมาก แต่เขา ก็ยังทำการทดลอง และผลของการทดลอง ก็ออกมาเป็น negative แปลว่าไม่ประสบความสำเร็จ หรือในความหมายง่ายๆ นั่นคือ ผิดพลาด


อันนี้ คือ นักวิทยาศาสตร์ อารมณ์ดีด้วยนะครับ ก็หนีคำว่า 'Mistake' ไม่พ้นอยู่ดี

ฉะนั้น การเรียนรู้ถึงคำว่า 'ผิดพลาด' และเปลี่ยนให้มาเป็นประสบการณ์ได้ เป็นเรื่องที่ดี
ทีนี้กลับมาที่คำถามตั้งต้นว่า ทำไม บริษัท ถึงต้องการคนที่ทำความผิดพลาดมาอย่างยาวนาน ผิดพลาดตั้ง 3 - 5 ปีไปทำงาน




จุดพลิกอยู่ตรงนี้ครับ -- คำว่า 'ประสบการณ์' ไม่ได้เป็นแค่ชื่อเล่นเท่ๆ ให้กับความผิดพลาด ถ้าคำว่า experience เอง เป็นแค่คำพูดหล่อสวย เอาไว้ครอบเรื่องล้มเหลวอย่างเดียวล่ะก็ ไม่จำเป็นหรอกครับ ปกติแล้ว ภาษาที่เยิ่นเย้อ ไม่มีประโยชน์ จะถูกตัดออกไปจากชีวิตประจำวัน การที่คำว่า 'ประสบการณ์' และ 'ความผิดพลาด' ยังถูกใช้อยู่คู่กัน ในท้องเรื่องที่ค่อนข้างห่างกันไกล มันเป็นเพราะมีปฏิกริยาหนึ่ง ถูกยัดเข้าไปในคำว่าประสบการณ์


พอเดาออกกันแล้วใช่มั้ยครับ


มันคือ ความพยายามที่จะใช้ปัญหา ที่จะเปลี่ยนความผิดพลาด ให้เป็นทางออก มีปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ด้วยครับ ต้องปล่อยแอ๊คชั่นเข้าไป ปล่อยของ ส่งความสามารถเราเข้าไป ผ่านความกระตือรือล้นที่จะแก้ปัญหา จนความผิดพลาด มันแปลงร่าง กายเป็นคำว่า 'ประสบการณ์' แล้วบินกลับมาเก็บในตัวเรา


นี่ครับ ความมหัศจรรย์ มันอยู่ตรงไอ้ที่เขาเรียกว่า 'พยายามแก้' นี่เอง -- ง่ายๆ ซิมเปิ้ล ขิงๆ



ทีนี้ ลองยัดแอ๊คชั่นอื่น ลงไปคำว่า 'ผิดพลาด' ดูครับ ลอง.. นี่แล้วกัน

ยัดการ 'วิ่งหนี' เข้าไปในคำว่าผิดพลาด

ความผิดพลาด จะแปลงร่างเหมือนกันครับ แปลงร่างออกมา หน้าตาไม่สู้ดีเท่าไร
มันมีชื่อว่า 'ความล้มเหลว' ครับ







อันนี้ ผมอยากให้คุณฝังประโยคนี้ ลงไปในความรู้สึกเบื้องลึกของคุณเลยนะครับ ว่า ไม่ว่าใครจะมองว่าคุณล้มเหลวอย่างไร หากคุณ ยังยืนหยัดที่จะแก้ไข ตั้งมั่น ที่จะใช้ความพยายาม ทำเรื่องที่พลาด ให้ถูกต้อง นั่นแหล่ะครับ เป็นตัวการันตี, เป็นใบเซอร์, เป็นตราปั๊ม ที่ประทับหน้าผากคุณว่า


'คุณ เป็นคนพยายาม' ซึ่ง สถานะคุณ ไม่ใช่

และเริ่มห่างออกไปจากคำว่า 'ล้มเหลว' ทุกช่วงแขนที่คุณยื่นออกมาลงมือแก้ไข




ในสังคม เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า คนบางกลุ่ม ถนัดงานวิจารณ์ ช่ำชองเรื่องการดูถูก -- แต่คุณดูเอาเถอะ คนเหล่านี้ไม่ได้ไปไกลกว่าคุณเท่าไร และทุกนาที ที่ผ่านไป ที่เขาดูถูกคุณ คุณเริ่มลอยผ่านศรีษะ และการมีตัวตนของเขาไปทุกขณะ อย่าประมาทตัวเราเองครับ



ถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้ ยอมรับ แก้ไข กลับร้าย กลายเป็นดี ซักวันหนึ่ง ไอ้คำว่าประสบการณ์ที่มันโดนแอ๊คชั่นตัวคำว่า 'พยายาม' เข้าไปเยอะๆ มันจะแปลงร่าง กลายเป็นคำว่า 'ผู้เชี่ยวชาญ' ครับ

หรือพูดในคำที่ง่ายที่สุด จะได้ความว่า

ผู้เชี่ยวชาญ คือ คนที่ถูกๆ ผิดๆ มานับไม่ถ้วน และทุกครั้งที่เขาผิด เขาลงมือแก้




https://lh3.googleusercontent.com/TvnqxMTDX0FkjZxCppXdv11xqeoMLSXxpZZtxeIm9iQ=w735-h490-no
ขอบคุณภาพถ่ายจาก: http://www.villagraziani.com/ENG/img-agriturismo-villa-graziani-vada-livorno-toscana/facebook-icon-black.png 9pinit Photos


..แต่เอ

เหมือนมีคำถามตั้งต้น ที่ยังไม่ได้คลี่ออก คลายออก


บริษัท ทำไม ต้องเน้นจัง กับคำว่าประสบการณ์

อันนี้ เป็นเทคนิคทั่วไปของสากลเลยนะครับ -- คนมีประสบการณ์ จะค่าตัวสูง ไม่ต้องมองเยอะเลยครับ

คนมีประสบการณ์ นั่นคือ เขาไปผ่านการลองผิด ลองถูก มาแล้ว ถ้าถูกก็ถือเป็นเรื่องดีของบริษัท
แต่ถ้าไม่ถูก ก็ ง่ายเลย -- ถือเป็นรายจ่าย



การที่เอาคนที่มีประสบการณ์เข้ามา ก็คือ การลดรายจ่าย ชนิดอหังการเลยนะครับ เพราะรายจ่ายที่แพงที่สุด ไม่ใช่เงินที่บริษัทจะต้องจ่ายแทนพนักงาน เวลาเขาทำผิดพลาด แต่มันคือ เวลา ที่บริษัทจะต้องเสียไป




นั่น แพงกว่าอะไรทั้งหมด



เพราะฉะนั้น คนที่มีประสบการณ์ จึงค่าตัวแพง เพราะเขา ลงทุนด้านเวลากับที่อื่นไป และก็เป็นที่อื่นที่รับความเสี่ยงของคนไม่มีประสบการณ์ไป

มีแต่ได้กับได้ ทีนี้ คนมีประสบการณ์ ก็คือ คนที่ช่วยเซฟทั้งเวลา เซฟทั้งเงิน สองเด้ง ดีๆ นี่เอง


ว่าแล้ว มันก็จุดใต้ตำตอนะครับ
อยากมีประสบการณ์ใช่มั้ยครับ ?

อย่างแรกเลย อย่ากลัวความผิดพลาด



เหอ เหอ เหอ


: D







>> ฝากคอมเม้นต์แลกเบอร์โทร !

โปรดบอกความนัยกับผม